คำจำกัดความ “ปรากฏการณ์โลกร้อน”

คำว่า “ปรากฏการณ์โลกร้อน” เป็นคำจำเพาะคำหนึ่งของอุบัติการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก โดยที่ "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในทุกช่วงเวลาของโลก รวมทั้งเหตุการณ์ปรากฏการณ์โลกเย็นด้วย โดยทั่วไป คำว่า "ปรากฏการณ์โลกร้อน" จะใช้ในการอ้างถึงสภาวะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และมีความเกี่ยวข้องกระทบต่อมนุษย์ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Climate Change) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และใช้คำว่า "การผันแปรของภูมิอากาศ" (Climate Variability) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอื่น ส่วนคำว่า “ปรากฏการณ์โลกร้อนจากกิจกรรมมนุษย์” (anthropogenic global warming) มีที่ใช้ในบางคราวเพื่อเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอันเนื่องมาจากมนุษย์

Wednesday, February 18, 2009

คาดการณ์ภาวะโลกร้อนในอนาคต


จากการวิจัยศึกษาของนานาชาติ ได้เผยแพร่ข่าวคาดการณ์ภาวะโลกร้อนในอนาคตเอาไว้มากมาย จึงขอสรุปเฉพาะข่าวที่น่าสนใจดังนี้


โลกร้อนที่สุดในรอบ 400 ปี


สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ ได้สรุปแจ้งผลการทบทวนรายงานทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศต่อรัฐสภาว่า "อุณหภูมิของโลกเมื่อปี2549 ได้อุ่นขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 400 ปี และอาจจะนานเป็นเวลาหลายพันปีก็ได้ อันเป็นผลมาจากฝีมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ อุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวพื้นโลกในซีกโลกเหนือสูงขึ้นอีกประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส"

ใจกลางโลกยังร้อนจัด

จากวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ได้รายงานว่า "นักธรณีวิทยาได้ศึกษาเพื่อต้องการที่จะหาความรู้ว่าความร้อนภายในโลกที่เป็นต้นตอของเหตุแผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุ ตลอดจนสนามแม่เหล็กโลก ถ่ายเทออกมาได้อย่างไร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์โรเบิร์ต แวน เดอ ฮิลสต์ กับคณะของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูแสตต์ในอเมริกา ได้ทำการศึกษาบริเวณใต้ผิวโลกแถบอเมริกากลาง โดยการติดตามคลื่นที่เกิดเมื่อแผ่นดินไหว คลื่นนั้นเดินทางลึกลงไปใจกลางโลก ลึกลงไปเป็นระยะทางหลายพันกิโลฯ และได้อาศัยตรวจวัดอุณหภูมิภายในของโลกที่อยู่ระหว่างเปลือกโลกและแกน พบว่ามีอุณหภูมิสูงถึง 3,676 องศาเซลเซียส ร้อนระดับน้องๆอุณหภูมิที่ผิวพื้นของดวงอาทิตย์ ซึ่งร้อนถึง 5,526 °C

อีก 23 ปี เอเชียระวังการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ

องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพ อันเป็นหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่าโลกอาจจะร้อนขึ้นอีก 4 °C ในราวปี พ.ศ.2573 โดยเฉพาะทางแถบอันแห้งแล้งทางเหนือของปากีสถาน อินเดีย และจีน องค์การฯ ยังได้ระบุอีกว่าการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกนี้ ไม่มีเหตุผลอันใดเป็นเรื่องน่ายินดีเลย หากรัฐบาลของชาติเหล่านี้ไม่ลงมือขจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเสียตั้งแต่บัดนี้
นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว ยังจะถูกซ้ำเติมด้วยแบบแผนของฝนตกที่ผิดปกติ รวมทั้งพายุหมุนเขตร้อนที่มีมากขึ้น ลมมรสุมรุนแรงจะก่อให้เกิดอุทกภัย ทำให้ประชาชนเรือนล้านต้องตกเป็นเหยื่อของโรคไข้จับสั่น ไข้ส่า และโรคติดต่ออื่นๆ นอกจากนี้ประชากรเรือนล้านที่มีถิ่นฐานอยู่ตามชุมชนริมฝั่งในบังคลาเทศ เวียดนาม จีน และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก อาจจะต้องละทิ้งถิ่นฐาน เพราะน้ำทะเลล้นฝั่ง โดยจะเอ่อสูงขึ้นอีกราว 20 นิ้ว ในระยะเวลา 65 ปีข้างหน้า

ยุโรป..แชมเปี้ยนอุณหภูมิโลกร้อน และในอนาคตอาจจะไม่มีฤดูหนาว

จากรายงานการการศึกษาของสำนักการศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปได้กล่าวคาดหมายว่า เนื่องจากปรากฏการณ์อากาศที่อุ่นขึ้นของโลกเป็นลำดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ยุโรปอาจจะต้องเผชิญกับคลื่นอากาศร้อนและอุทกภัยถี่ขึ้นมากกว่าเดิมจนน้ำแข็งที่ปกคลุมตามยอดเขาแอลป์ของสวิสเซอร์แลนด์อาจจะละลายหายหมดเกลี้ยงลงถึง 3 ใน 4 ภายในปี พ.ศ.2593

การศึกษาได้พบว่าอุณหภูมิของอากาศในยุโรปได้เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยในรอบ 100 ปีมานี้ขึ้นอีก 1.7 °F และยังอาจจะเพิ่มสูงขึ้นในรอบศตวรรษนี้เป็นระหว่าง 3.6-11.3 °F ซึ่งถือว่าสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังระบุว่าอุณหภูมิที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นของโลก อาจจะเป็นผลให้ยุโรปจะหมดสิ้นฤดูหนาวโดยสิ้นเชิงในราวปี พ.ศ.2603 เมื่อถึงฤดูร้อนก็จะร้อนยิ่งขึ้น เกิดความแห้งแล้ง และปรากฏการณ์อย่างพายุลูกเห็บและฝนตกหนักก็จะเกิดขึ้นบ่อย

ปัญหาภาวะโลกร้อนจะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศกึ่งร้อนในอนาคต

สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้ อ้างแถลงการณ์ของศูนย์พยากรณ์อากาศของเกาหลีใต้ว่า "ผลการศึกษาบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในประเทศ อาจขยายวงกว้างมากขึ้น ครอบคลุมกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศภายในปี พ.ศ.2641-2643 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 68 แห่ง ทำให้กลายเป็นประเทศกึ่งร้อน" นอกจากนี้ศูนย์ฯยังได้ทำนายว่า "อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นราว 4 °C ภายในระยะ 70 ปีข้างหน้านี้"

คำว่า "ประเทศกึ่งร้อน" หมายถึง ประเทศที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อเดือนกว่า 10 °C เป็นเวลากว่า 8 เดือนใน 1 ปี และมีอุณหภูมิในเดือนที่หนาวเย็นที่สุด ต่ำกว่า 18 °C โดยเฉลี่ย

ธารน้ำแข็งขั้วโลกใต้บางลง หวั่นทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น

คณะนักวิจัยนานาชาติรายงานในวารสารวิทยาศาสตร์ "ไซเอินซ์" ว่าธารน้ำแข็งบางแห่งทางทิศตะวันตกของขั้วโลกใต้กำลังละลายเร็วกว่าที่หิมะจะตกลงแทนที่ได้ทัน และจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจากการตรวจวัดธารน้ำแข็งที่ไหลลงทะเลอะมันด์เซ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่าธารน้ำแข็งเหล่านี้ละลายเร็วกว่าปีก่อน ๆ และอาจแตกเป็นเสี่ยง ๆ นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำแข็งมากกว่าที่คาดไว้ นักวิจัยระบุว่าธารน้ำแข็งที่ทะเลอะมันด์เซ่นมีน้ำแข็งมากพอจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1.3 เมตร จากการตรวจวัดพบว่าปริมาณน้ำแข็งเกินระดับความสมดุลอยู่ร้อยละ 60 มากพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นปีละ 0.2 มม. มากกว่า 10% ของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทั้งโลกประมาณ 1.8 มม./ปี

นอกจากนี้ธารน้ำแข็งยังละลายเร็วขึ้น เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งที่ทำหน้าที่เหมือนจุกขวดช่วยชะลอการไหลของธารน้ำแข็งก็กำลังละลายเช่นกัน แม้ว่าแผ่นน้ำแข็งเหล่านี้ไม่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะนักวิจัยนาซาและมหาวิทยาลัยโคโลราโดแห่งสหรัฐฯรายงานว่าแผ่นน้ำแข็งลาร์ซัน บี ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของทวีปแอนตาร์กติกด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งแตกออกเมื่อปี 2545 ทำให้ธารน้ำแข็งไหลลงสู่ทะเลเวดเดลล์เร็วขึ้น

ชาวโลก 634 ล้านคน เตรียมรับเคราะห์จากภัยระดับน้ำทะเลหนุนขึ้นสูง

จากวารสารวิชาการ "สิ่งแวดล้อม" รายงานว่า" ผู้คนที่จะได้รับเคราะห์จะเป็นผู้ที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่ถึง 33 ฟุต ซึ่งเป็นชนชาติต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 180 ชาติ ประมาณ 634 ล้านคน และมีเมืองใหญ่ของโลกมากถึง 2 ใน 3 ตกอยู่ในข่ายอันตรายนี้ด้วย เช่น โตเกียว นิวยอร์ก มุมไบ (อินเดีย) เซี่ยงไฮ้ จาการ์ตา (อินโดฯ) และตาการ์ (บังคลาเทศ) เป็นต้น"

การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ได้ระบุบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งทะเล ซึ่งอาจได้รับอันตรายเนื่องจากเหตุโลกร้อนและระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น

รายงานนี้ไม่ได้บอกช่วงเวลาที่อาจจะเกิดน้ำทะเลเอ่อท่วมดินแดนริมฝั่งแต่ละชาติไว้ แต่ได้กล่าวเตือนให้รู้ตัวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะต้องใช้เงินมหาศาล เพราะจะต้องย้ายผู้คนออกเป็นจำนวนมาก และสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมที่สามารถป้องกันได้

หลายชาติในเอเชียเตรียมเผชิญระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

นายสตีฟ วิลเลียมส์ ผอ. บ. เอเนอร์จี้ โซลูชั่นส์ จก. ที่ปรึกษาด้านอุตฯ ขนาดใหญ่ แสดงความเป็นห่วงหลายชาติในเอเชียจะเผชิญปัญหาใหญ่จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนและพายุตามฤดูกาลที่รุนแรงขึ้น

โดยนายสตีฟระบุว่าประชากร 1 ใน 10 ของภูมิภาคเอเชียที่อาศัยบริเวณชายฝั่ง ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงมากที่สุด แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการรับมือกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และเชื่อว่าหลายชาติไม่มีงบประมาณเพียงพอในการก่อสร้างเขื่อนกันน้ำทะเลเหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้จากสถิติประชากรเอเชีย ประเทศจีนมีประชากรอาศัยในแถบพื้นที่ลุ่มริมชายฝั่งทะเลมากที่สุด โดยมีราว 143 ล้านคน รองลงมาคือ อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

พรรณไม้จะขึ้นในทวีปน้ำแข็ง

นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวในที่ประชุมนานาชาติว่า "ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทวีปแอนตาร์กติกบริเวณขั้วโลกใต้ได้เพิ่มทวีขึ้น และจะเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่าตัวภายในปี พ.ศ.2643 หรือเกือบ 100 ปีข้างหน้านี้ ทำให้ทวีปที่เป็นน้ำแข็งจะกลับไปมีสภาพเหมือนกับเมื่อ 40 ล้านปีที่แล้วอีกครั้งหนึ่ง โดยอากาศจะอุ่นขึ้น มีต้นไม้และพุ่มไม้เจริญเติบโตกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ อันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่เป็นซากอินทรีย์โบราณ เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน"
นักวิทยาศาสตร์หลายชาติเดินทางสู่ขั้วโลก เพื่อศึกษาผลอากาศเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน

เนื่องในปี 2550 ได้ถูกประกาศเป็น "ปีขั้วโลกนานาชาติ" จึงได้มีการรวบรวมโครงการวิจัย 228 โครงการ ที่จะติดตามสุขภาพบริเวณขั้วโลก และทำการวัดผลกระทบจากปรากฎการณ์โลกร้อน นับเป็นโครงการวิจัยนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี โดยได้เริ่มอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 และจะสิ้นสุดในปี 2552 เพื่อทำการเก็บข้อมูลขั้วโลกแต่ละด้านได้เต็มฤดูกาลทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว สำหรับงบประมาณวิจัยมาจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ และกรรมาธิการวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่ได้ทุ่มงบประมาณถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯทั้งนี้มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 50,000 คน จาก 63 ชาติ ที่เข้าร่วมเดินทางไปศึกษาความเปลี่ยนแปลงของขั้วโลก ที่เกิดจากผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยใช้วิธีการศึกษาหลายแบบ ทั้งติดตามดูน้ำแข็งที่ถูกทำลาย ข้อมูลดาวเทียม และใช้เรือดำน้ำ การศึกษาดังกล่าวยังครอบคลุมถึงผลกระทบของรังสีแสงอาทิตย์ที่มีต่อบรรยากาศขั้วโลก ไปจนถึงชีวิตสัตว์ใต้น้ำที่อยู่ใต้มหาสมุทรน้ำแข็งแอนตาร์กติกอีกด้วย

เอลนิโญทำให้ทะเลไทยมีน้ำเย็นลง และเกิดตะกอนขุ่น

ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรฯ เปิดเผยว่าจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดหลายปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับทะเลโดยตรง คือ ปรากฎการณ์เอลนิโญ ซึ่งในเมืองไทยได้รับผลกระทบหลายครั้ง ที่ชัดเจนคือ 10 ปีที่ผ่านมา น้ำทะเลอันดามันเย็นลงในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน และเกิดน้ำร้อนในอ่าวไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน และปี 2550 นี้ ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม คือ น้ำทะเลอันดามันเย็นลง มาจากน้ำที่อยู่ในทะเลลึกเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่ใกล้ฝั่ง ซึ่งน้ำนอกจากเย็นแล้ว ยังมีตะกอนขุ่นจากทะเลลึกมาด้วย ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเข้ามาในเขตตื้น แต่มากับมวลน้ำเย็น ตะกอนนี้มีธาตุอาหารจำนวนมาก ทำให้แพลงก์ตอนที่อยู่ในเขตน้ำตื้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวที่ไปว่ายน้ำดำน้ำจะรู้สึกว่าน้ำเย็น ขุ่น และคันยิบ ๆ (นักท่องเที่ยวเริ่มย้ายจุดดำน้ำจากอันดามันใต้ไปเหนือ) เพราะแพลงก์ตอนบางตัวมีพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต คงทำให้คันเท่านั้น นอกจากนี้แพลงก์ตอนยังทำให้มีสัตว์น้ำขนาดใหญ่และสัตว์น้ำแปลก ๆ ตามเข้ามา เช่น กระเบนราหู เป็นต้น

0 comments:

Post a Comment