คำจำกัดความ “ปรากฏการณ์โลกร้อน”

คำว่า “ปรากฏการณ์โลกร้อน” เป็นคำจำเพาะคำหนึ่งของอุบัติการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก โดยที่ "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในทุกช่วงเวลาของโลก รวมทั้งเหตุการณ์ปรากฏการณ์โลกเย็นด้วย โดยทั่วไป คำว่า "ปรากฏการณ์โลกร้อน" จะใช้ในการอ้างถึงสภาวะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และมีความเกี่ยวข้องกระทบต่อมนุษย์ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Climate Change) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และใช้คำว่า "การผันแปรของภูมิอากาศ" (Climate Variability) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอื่น ส่วนคำว่า “ปรากฏการณ์โลกร้อนจากกิจกรรมมนุษย์” (anthropogenic global warming) มีที่ใช้ในบางคราวเพื่อเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอันเนื่องมาจากมนุษย์

Wednesday, February 18, 2009

บทเรียนจากภาวะโลกร้อน


ในรอบหลายปีที่ผ่านมา แทบทุกคนคงได้รับข่าวภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้จากสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ พายุถล่ม น้ำท่วม และไฟป่า ทำให้ผู้คนที่ไม่เคยสนใจธรรมชาติมาก่อนก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความหวาดวิตก เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากจะมีทุกรูปแบบแล้ว ยังมีความรุนแรงมากกว่าเดิม แถมในหลายภูมิภาคต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน


เริ่มจากเหตุการณ์เมื่อเกือบ 3 ปีก่อน ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ริกเตอร์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราและในท้องทะเลอันดามัน ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิคร่าชีวิตผู้คนหลายแสนคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมาย จากนั้นก็มีเหตุแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายร้อยครั้งจนกลายเป็นเหตุหายนะรายวันทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น อเมริกา ชิลี เปรู และโบลิเวีย


ขณะเดียวกันก็เกิดสภาพอากาศวิปริตอย่างหนักในอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ญี่ปุ่น อเมริกา ชิลี และบริเวณตอนเหนือของยุโรป ทั้งพายุหิมะ ฝนตกหนัก และอากาศหนาวเย็นสุด ๆ จนอุณหภูมิติดลบ ทำให้ประชาชนล้มตายหลายพันคน


ต่อมาอีกไม่กี่เดือนก็เกิดคลื่นความร้อน (Heat Wave) แผ่ปกคลุมทั้งจีน อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน โปรตุเกส ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ทำให้ผู้คนตายอีกหลายร้อยคนจากโรคลมแดดและขาดน้ำจนช็อคตาย รวมทั้งหลายประเทศเกิดไฟป่าอย่างรุนแรงจากอากาศที่แห้งแล้งอย่างหนัก


ถัดมายังไม่ทันที่คลื่นความร้อนจางหาย ก็เกิดลมพายุเข้ามาสร้างความเสียหายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ของจีนที่ต้องเผชิญพายุนับสิบลูกจนทำให้ประชาชนล้มตายนับไม่ถ้วน และที่รัฐมหาราษฎระทางทิศตะวันตกของอินเดียก็เกิดเหตุดินถล่มหลังฝนตกหนักติดต่อกันนานกว่า4วัน เป็นเหตุให้มีผู้คนถูกฝังทั้งเป็นนับร้อยคน ส่วนที่อินโดนีเซีย (หมู่บ้านซีมาไฮ ชานเมืองบันดุง) ก็เกิดฝนตกหนักจนทำให้ขยะที่กองเป็นภูเขาเลากากลบฝังชาวบ้านกว่า 200 ชีวิต


ขณะที่ประเทศอเมริกาก็ต้องผชิญหน้ากับพายุเฮอริเคนนับสิบลูก แต่ที่รุนแรงที่สุดก็เป็นพายุเฮอริเคนที่มีชื่อว่า "แคทรีนา" ได้ก่อตัวและเคลื่อนจากอ่าวเม็กซิโกด้วยความรุนแรงระดับ 5 (เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2548) ถาโถมเข้าถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา และเมืองไบลอกซี รัฐมิสซิสซิปปี แถมยังถูกพายุเฮอริเคนอีก 2 ลูกที่มีชื่อว่า "โอฟีเลีย" และ "ริตา" ตามเข้ามาถล่มซ้ำ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตนับพันคน ไร้ที่อยู่อาศัยอีกนับล้านคน รวมทั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย


ซึ่งได้มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาเตือนว่าดินแดนสหรัฐฯยังจะโดนพายุเฮอริเคนที่รุนแรงขึ้นในช่วงระยะเวลาอีกหลายปีข้างหน้าอีกหลายลูก เนื่องมาจากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น


นายเคอรี เอมมานูเอล นักอุตุนิยมวิทยาแห่งสหรัฐฯ ได้รายงานผลการวิจัย ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงอันตรายอันเนื่องมาจากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น โดยเขาได้เทียบเคียงให้เห็นถึงอุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรกับความเร็วลมของหย่อมบริเวณความกดอากาศต่ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ปรากฎว่าความแรงของลมและคลื่นได้ทวีขึ้นอย่างรุนแรง ความคงทนของพายุเฮอริเคนนับตั้งแต่ พ.ศ.2492 ได้นานขึ้นอีกราว 60% และความแรงของลมที่จุดศูนย์กลางของพายุทวีขึ้นอีก 50% นับแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา ในขณะที่อุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรก็อุ่นขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าภาวะโลกร้อนได้ทำให้พายุเฮอริเคนได้ทวีความรุนแรงขึ้นถึง 2 เท่าในรอบระยะเวลา 30 ปีมานี้ เพียงแค่อุณหภูมิที่พื้นผิวมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 0.5 °C เท่านั้น


และในเดือนตุลาคม 2548 ได้พบว่าเกิดภาวะแห้งแล้งอย่างหนักในทวีปอเมริกาใต้ เป็นผลให้แม่น้ำอะเมซอนในประเทศบราซิลเกิดความแล้งจนก่อเกิดเกาะแก่งกลางน้ำมากมาย อันเป็นผลมาจากความร้อนที่มีมากเกินขนาดบริเวณมหาสมุทรทริปิคัลนอร์ท แอตแลนติก


จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเสนอทฤษฎีต่างๆนานาเพื่ออธิบายถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ทฤษฎีโลกร้อนโลกเย็น ทฤษฎีแกนโลกเอียง เป็นต้น ซึ่งทุกทฤษฎีล้วนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า "มนุษย์ได้ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติจนเกินพอดี เมื่อธรรมชาติเสียความสมดุลก็ย่อมเกิดการทำลายจากธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่เกิดนี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนจากธรรมชาติเท่านั้น ยังไม่ถึงเวลาของภัยพิบัติธรรมชาติแท้จริงที่คาดว่าน่าจะเลวร้ายกว่านี้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า"

0 comments:

Post a Comment