คำจำกัดความ “ปรากฏการณ์โลกร้อน”

คำว่า “ปรากฏการณ์โลกร้อน” เป็นคำจำเพาะคำหนึ่งของอุบัติการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก โดยที่ "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในทุกช่วงเวลาของโลก รวมทั้งเหตุการณ์ปรากฏการณ์โลกเย็นด้วย โดยทั่วไป คำว่า "ปรากฏการณ์โลกร้อน" จะใช้ในการอ้างถึงสภาวะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และมีความเกี่ยวข้องกระทบต่อมนุษย์ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Climate Change) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และใช้คำว่า "การผันแปรของภูมิอากาศ" (Climate Variability) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอื่น ส่วนคำว่า “ปรากฏการณ์โลกร้อนจากกิจกรรมมนุษย์” (anthropogenic global warming) มีที่ใช้ในบางคราวเพื่อเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอันเนื่องมาจากมนุษย์

Thursday, February 19, 2009

โลกร้อนระวัง อะมีบา-อหิวาต์ ร่าเริง


.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษาภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงของโรคในภาวะโลกร้อน" ในการประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 16 ว่า ภาวะโลกร้อนมีผลให้การเจริญแพร่ขยายพันธุ์ของเชื้อโรคและพาหะนำโรคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้ออะมีบาที่มีชีวิตอิสระในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง เมื่อน้ำร้อนขึ้นเชื้อชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดี เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ลงเล่นน้ำแล้วสำลักเชื้ออะมีบาเข้าไป จะทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง ซึ่งปัจจุบันมีรายงานผู้ที่ได้รับเชื้อนี้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องระวังโรคลีเจียนแนร์ที่ส่งผลให้เกิดโรคปอดบวม แหล่งแพร่เชื้อ คือ หอผึ่งเย็นของอาคาร สปา น้ำพุประดับ เครื่องพ่นละอองฝอย เครื่องผลิต ความชื้น น้ำพุร้อนและน้ำในแหล่งน้ำที่ร้อน ติดต่อทางการหายใจ ส่วนโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น ไข้เลือดออกและอหิวาตกโรค ยังจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง เพราะยุงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่วนอหิวาตกโรคเริ่มกลับมาระบาดใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในงานเดียวกัน มีการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง สถานการณ์การดื้อยาของเชื้ออหิวาตกโรคในประเทศไทย โดยเฝ้าระวังเชื้ออหิวาตกโรคที่แยกได้จากผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมจำนวน 517 สายพันธุ์ พบว่าเชื้ออหิวาตกโรคในประเทศไทยดื้อต่อยา Cotrimoxazole มากขึ้นในอัตราถึง 96.9-100%

Wednesday, February 18, 2009

เซลล์แสงอาทิตย์ ช่วยลดโลกร้อน


เซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell) คืออะไร และทำงานอย่างไร


เซลล์แสงอาทิตย์ (solar cell ) เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ (หรือแสงจากหลอดแสงสว่าง) ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง และไฟฟ้าที่ได้นั้นจะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Cuurent) เซลล์แสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาด และไม่สร้างมลภาวะใดๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมขณะใช้งาน โดยการนำสารกึ่งตัวนำ เช่น ซิลิคอน ซึ่งมีราคาถูกที่สุดและมีมากที่สุดบนพื้นโลก นำมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผลิตให้เป็นแผ่นบางบริสุทธิ์



วิธีการทำงาน

เมื่อมีแสงอาทิตย์ตกกระทบเซลล์แสงอาทิตย์ จะเกิดการสร้างพาหะนำไฟฟ้าชนิดประจุลบและประจุบวกขึ้นซึ่งได้แก่ อิเล็กตรอน และ โฮล โครงสร้างรอยต่อ p – n จะทำหน้าที่สร้างสนามไฟฟ้าภายในเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อแยกอิเล็กตรอนให้ไหลไปที่ขั้วลบและแยกโฮลไหลไปที่ขั้วบวก ทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าแบบกระแสตรงขึ้นที่ขั้วทั้งสอง





เมื่อเราต่อเซลล์แสงอาทิตย์เข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดกระแสตรง ก็จะมีกระแสไฟฟ้าไหลในวงจร เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกจากเซลล์แสงอาทิตย์เป็นชนิดกระแสตรง ดังนั้น ถ้าผู้ใช้ต้องการนำเซลล์แสงอาทิตย์ไปจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ต้องต่อเซลล์แสงอาทิตย์เข้ากับอินเวอร์เตอร์ (inverter) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าจากกระแสตรงให้เป็นกระแสสลับก่อนที่จะมีการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสสลับ ดังกล่าว





ถ้าต้องการให้แรงดันไฟฟ้าของระบบฯ มีค่าสูงขึ้นก็ให้นำแผงเซลล์แสงอาทิตย์มาต่ออนุกรมกันและหากต้องการให้กระแสไฟฟ้ามากขึ้นก็จะนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์มาต่อขนานกัน ทั้งนี้จะต้องมีความสอดคล้องกับค่ากระแสและแรงดันไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ประกอบระบบฯ ที่นำมาต่อเพื่อใช้งานด้วย